5 เทคนิคการจอดรถอย่างถูกวิธี ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ ??
การจอดรถแบบผิดวิธี เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ วันนี้เราจะมาดูเทคนิคการจอดรถแบบถูกวิธีในสถานที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไปดูกันเลยค่ะ!
1. กรณีจอดรถในช่องจอดรถ ?
เราควรจอดรถให้อยู่ภายในช่องที่กำหนดไว้ รถควรอยู่กึ่งกลางของช่องจอดรถ และอยู่ในระยะห่างจากเส้นให้เหมาะสม ไม่ควรจอดรถชิดไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือล้ำไปด้านหน้ามากเกินไป อีกทั้งหากเราพับกระจกข้าง จะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้รถคันอื่นสามารถเข้าจอดได้สะดวกอีกด้วย!
2. กรณีจอดรถกีดขวางช่องทางรถคันอื่น ?
หากเรามีความจำเป็นต้องจอดรถกีดขวางช่องทางรถคันอื่น ให้เราปลดเกียร์ว่าง หรือเลื่อนคันเกียร์ไปไว้ที่ตำแหน่ง N และไม่ควรดึงเบรกมือ!
เราไม่ควรจอดรถบริเวณหัวมุม ทางโค้ง ทางแคบ หรือทางลาดชัน จะทำให้รถคันอื่นขับผ่านไม่สะดวก มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้
3. กรณีจอดรถบนช่องทางเดินรถ ?
เราควรจอดรถบริเวณด้านซ้ายของทางเดินรถ โดยให้ด้านซ้ายของรถชิด และขนานกับขอบไหล่ทางในระยะไม่เกิน 25 เซนติเมตร ในลักษณะที่ไม่กีดขวางช่องทางจราจร!
ไม่ควรจอดรถในบริเวณที่ห้ามจอด เช่น บริเวณทางร่วมทางแยก บนทางเท้า บนสะพาน ในอุโมงค์ เป็นต้น เพราะนอกจากจะผิดกฎหมาย ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย!
4. กรณีรถจอดเสียบนทางเดินรถ ?
ควรให้สัญญาณการจอดรถโดยเปิดไฟฉุกเฉิน และนำกรวย ป้ายสะท้อนแสง กิ่งไม้ หรือวัสดุอื่นมาวางให้ห่างจากรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดเสีย จะได้เพิ่มความระมัดระวัง และเปลี่ยนช่องทางเดินรถได้ทัน
หากเป็นไปได้ควรจอดให้ชิดริมไหล่ทางในลักษณะที่ไม่กีดขวางช่องทางการจราจร จากนั้นให้พยายามนำรถออกให้พ้นช่องทางเดินรถโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
5. กรณีจอดรถบนทางลาดชัน ?
เราควรหมุนพวงมาลัยให้ล้อหน้าเลี้ยวไปทางด้านตรงข้ามกับถนน หากรถเคลื่อนที่จะได้ไม่ไหลไปกีดขวางช่องทางจราจร
หลังจากดับเครื่องยนต์ให้ดึงเบรกมือขึ้นจนสุด เลื่อนเกียร์ไปยังตำแหน่งถอยหลังสำหรับรถเกียร์ธรรมดา และตำแหน่ง P สำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้รถเคลื่อนตัว รวมถึงนำก้อนหิน ขอนไม้ หรือวัสดุที่แข็งแรงมารองหลังล้อรถ จะช่วยให้จอดรถบนทางลาดชันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
การเรียนรู้เทคนิคการจอดรถจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้ ฉะนั้นเราไม่ควรมองข้ามเทคนิคเล็กสำคัญแบบนี้นะคะ
Credit : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

หากชอบบทความนี้ สามารถแชร์ด้านล่างได้นะคะ